ประวัติความเป็นมา (วรรณคดีเรื่อง
ดาหลัง)
ดาหลัง
เป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งของไทยจัดอยู่ในประเภทบทละครใน ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 เรื่องคือ รามเกียรติ์ อุณรุท ดาหลัง และ อิเหนา โดย ดาหลัง และ
อิเหนา นั้นมีต้นเค้ามาจากนิทานปันหยีของทางชวาเหมือนกัน
แต่ความนิยมในดาหลังนั้นมีน้อยมาก อันจะสังเกตได้ว่าแทบไม่มีผู้ใดคิดจะหยิบมาอ่านหรือนำมาศึกษาอย่างจริงจังอาจเพราะด้วยเนื้อหานั้นค่อนข้างรุนแรงกว่าอิเหนา
ภาษานั้นไม่ไพเราะลื่นไหลน่าอ่านเท่ากับอิเหนาฉบับรัชกาลที่ 2 และเนื้อเรื่องที่ได้ตีพิมพ์ออกมานั้นไม่จบตอน ขาดในส่วนของตอนจบไป
จึงไม่มีใครทราบว่าเรื่องดาหลังนั้นแท้จริงแล้วจบอย่างไร
จากสาเหตุข้างต้นจึงน่าจะเป็นเหตุให้วรรณคดีเรื่องนี้ถูกมองข้ามไปโดยปริยาย
ดาหลัง
หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อิเหนาใหญ่
เป็นกลอนบทละครพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
มีเค้าเดิมมาจากนิทานชวา เชื่อกันว่าเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
หญิงเชลยชาวชวาปัตตานี
ซึ่งเป็นข้าหลวงรับใช้เจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎพระธิดาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ได้เล่าถวายเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์นั้น
ทั้งสองพระองค์จึงทรงแต่งเรื่องขึ้นคนละเรื่องคือ อิเหนาใหญ่ และ อิเหนาเล็ก
แต่เรื่องทั้งสองสุญหายไป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ทั้งอิเหนาใหญ่และอิเหนาเล็ก
โดยอาศัยเค้าเรื่องเดิมสมัยอยุธยา
พระราชนิพนธ์เรื่องดาหลังนี้
ผู้รู้ทางวรรณคดีเห็นกันว่าเป็นโวหารสมัยรัชกาลที่ 1 ทั้งๆ
ที่ไม่มีบานแผนก เป็นความนำในพระราชนิพนธ์ในรัชกาลนั้นส่วนมาก
แต่ความจริงการที่เรียกหนังสือใดๆ ว่าพระราชนิพนธ์นั้น สำหรับสมัยก่อนๆ
ไม่ได้หมายความว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งเอง
หรือเขียนเองแต่ลำพังพระองค์ เยี่ยงนักเขียนในปัจจุบัน
ซึ่งอย่างน้อยก็บอกให้คนอื่นเขียนตามคำบอกสมัยนั้นพระองค์ทรงเป็นประธานในการเรียบเรียง
ทรงรวบรวมนักประพันธ์ กวี มาช่วยกันคิดแต่งติชมจนเป็นเรื่องขึ้น ซึ่งส่วนมากพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 นั้นจะใช้วิธีประชุมกวีเสียเป็นส่วนมากที่จะนิพนธ์ด้วยองค์เองตลอดเรื่อง
ในเวลาที่ไทยเราตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ได้ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งอิเหนาใหญ่ และ
อิเหนาเล็กขึ้นควรจะเชื่อได้ว่าทั้งสองเรื่องนั้นสำนวนเดิมเคยมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว
เพราะการฟื้นฟูวรรณคดีก็ดี งานราชการบ้านเมืองก็ดี
เป็นการฟื้นฟูตามแบบกรุงศรีอยุธยาทั้งนั้น ท่านไม่น่าจะมีเวลามาคิดแต่งดาหลังขึ้นใหม่แน่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น